การคอร์รัปชัน
คำว่า
"การฉ้อราษฎร์บังหลวง" มีความหมายอย่างกว้างตรงกับคำว่า
"Corruption" ในภาษาอังกฤษ
หรืออย่างน้อยที่สุดมีความหมายใกล้เคียงกัน (ธานินทร์ กรัยวิเชียร, 2510: หน้า1) แต่บางคนก็มีความเห็นว่า คำว่า "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" มีความหมายแคบกว่า "Corruption"
เพราะคำว่า "ฉ้อราษฎร์บังหลวง"
อาจจะหมายถึงเฉพาะการเบียดบังยักยอกทรัพย์ของรัฐและของสาธารณะเท่านั้น
แต่บางคนก็มีความเห็นว่า
คำนี้น่าจะรวมถึงการกินสินบนและการแสวงหาอำนาจโดยวิธีการที่ผิดทำนองคลองธรรมด้วย ซึ่งตรงกับความหมายของคำว่า "Corruption" ในภาษาอังกฤษ (ธานินทร์ กรัยวิเชียร, 2510: หน้า1)
และตรงกับความหมายที่คนทั่วไปในปัจจุบันนี้เรียกการฉ้อราษฎร์บังหลวงทับศัพท์ว่าคอร์รัปชัน
โดยมีความหมายบางส่วนไม่ครอบคลุมหรือเกินเลยไปบ้าง เพราะฉะนั้น
คำว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือคอร์รัปชันจึงมีความหมายอย่างเดียวกันโดยอนุโลม
คอร์รัปชันเป็นคำที่ได้ยินแล้วเข้าใจ
อะไรที่มีคอร์รัปชันหมายถึงว่าสิ่งนั้น “เลว” แต่การให้นิยาม
หรือให้คำจำกัดความของคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบอาจมิใช่เป็นเรื่องที่ง่ายนัก โดยเฉพาะกรณีที่ต้องการประเมินคอร์รัปชันหรือต้องการสร้างเครื่องชี้วัดระดับคอร์รัปชัน
เนื่องจากเราจะต้องการความหมาย
ของคอร์รัปชันที่ครอบคลุมพฤติกรรมคอร์รัปชันทั้งหมด และเป็นจริงในสังคมไทย
โดยสอดรับกับแนวความคิดและพฤติกรรมอย่างเป็นสากลได้ซึ่งต้องวัดหรือประเมินในเชิงปริมาณได้
ความหมายทั่วไป
มีร์ดาล
(Gunnar Myrdal) ให้ความหมายไว้ใน วารสารเอเชียนแม็กกาซีน (Asian Magazine) ว่า คอร์รัปชัน
เป็นคำที่มีความหมายกว้างขวาง หมายถึงการกระทำทุกอย่างที่เป็นไปโดยมิชอบ
หรือเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว โดยใช้อำนาจและอิทธิพลที่มีอยู่ในตำแหน่งหน้าที่หรืออาศัยฐานะตำแหน่งพิเศษที่ตนมีอยู่ในกิจสาธารณะ รวมทั้งการกินสินบนด้วย (Myrdal, 1968: p.13)
ใน พจนานุกรมแบล็ค ลอว์ (Black Law Dictionary) ให้ความหมายว่า
คอร์รัปชันหมายถึง "....การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำชั่วและฉ้อโกง
โดยมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงกฎหมาย
รวมทั้งการกระทำที่ขัดต่อตำแหน่งหน้าที่และสิทธิของผู้อื่น นอกจากนี้
ยังหมายถึงการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งประชาชนไว้วางใจกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
โดยการรับหรือยอมรับประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น" (Black Law Dictionary,
1979: p.50)
แวนรอย
(Edward van Roy) ได้ให้ความหมายคำว่า คอร์รัปชัน
ว่าคือ "...การใช้อำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไร ความชอบพอ
หรืออภิสิทธิ์ หรือเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มหรือชนชั้น ซึ่งออกมาในรูปการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย
หรือละเมิดมาตรฐานความประพฤติทางศีลธรรมจรรยาที่ยอมรับ." (van Roy, 1970: p.86)
วารินทร์
วงศ์หาญเชาว์ ได้ให้ความหมายอย่างทั่วไปว่า การคอร์รัปชันเป็น "...สถาบันนอกเหนือกฎหมาย (extra-legal
institution) หรือนอกเหนือข้อตกลงโดยชอบธรรมทางสังคมในขณะหนึ่งๆ
ซึ่งบุคคลหรือคณะบุคคลที่อยู่ในระบบราชการ หรือระบบเอกชน
หรือทั้งสองระบบใช้ปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์แห่งตน
โดยทำให้บุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนร่วมด้วยโดยตรงต้องเสียประโยชน์ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม
ทั้งนี้ สุดแล้วแต่ผลของการต่อรองหรือการยินยอมของบุคคลที่มีส่วนร่วมโดยตรงในการกระทำนั้นๆ...."
(วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์, 2516: หน้า 45)
ในลักษณะดังกล่าวข้างต้น
การฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นเรื่องที่เน้นไปทางด้านความรู้สึกของบุคคลที่เรียกว่า
"อัตวิสัย" (subjective) เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับระบบคุณค่า (value system) ซึ่งยากต่อการกำหนดลักษณะอย่างตายตัว
การที่จะบอกว่าอะไรคือฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้นย่อมจะขึ้นอยู่กับจุดอ้างอิง (reference
point) ที่ใช้การที่จะเอามาตรฐานของสังคมหนึ่งไปวัดพฤติกรรมของอีกสังคมหนึ่ง
ว่าเป็นฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือไม่นั้น ต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง
แนวความคิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงจะใช้แบบสมบูรณนัย (absolute concept) ไม่ได้ เพราะการฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่ว่าจะเกิดขึ้นในสังคมใดก็ตาม
ย่อมมีสภาพพลวัตร (dynamism) ในตัวเอง นั่นคือความหมายของคอร์รัปชันย่อมเปลี่ยนแปลงได้เสมอสุดแต่ปทัสถาน (norms) ของสังคมในขณะนั้นเป็นเกณฑ์ (วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์, 2516: หน้า
44-45)
Corruption ในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส
มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน corruptus ซึ่งเป็น past
participle ของ corrumpere แปลว่า break
to pieces completely (แตกออกเป็นชิ้นๆ
อย่างละเอียด)
Webster's New World Dictionary of the American Language ระบุว่า "Corruption"
และมีความหมายหลายนัย (สภาวิจัยแห่งชาติ, 2509: หน้า 11-12) ดังนี้
การเปลี่ยนแปลงหรือผันแปรไปในทางที่เลว
การกระทำที่กลับกลายหรือกำลังเป็นไปในทางที่เลว
ความประพฤติไม่ดีหรือชั่วร้าย ความเสื่อมทราม การกินสินบน
เสื่อมสลายหรือเน่าเปื่อย สิ่งของหรืออิทธิพลซึ่งใช้ในทางที่ผิด
The American Heritage Dictionary of the
English Language ให้ความหมาย
ที่เป็นคำนามไว้ว่า
Immoral (ผิดศีลธรรม เลว ร้ายแรง); perverted (นำไปในทางที่ผิด บิดเบือน); depraved (ทำให้เสื่อมทรามลง
ความเลวทราม).Marked by venality and dishonesty (ถือเงินเป็นพระเจ้า
เห็นแก่เงิน ซื้อได้ด้วยเงิน เห็นแก่สินบน โกง ไม่ซื่อสัตย์).Decaying (ปรักหักพัง ผุ ละลาย เน่าเปื่อย เสื่อลง หมดกำลังวังชา); putrid (เน่า ทำให้เน่า).Impure (ไม่บริสุทธิ์); cotaminated (ทำให้เน่า
ทำให้เปรอะเปื้อน โสโครก); unclean (ไม่สะอาด สกปรก).Containing errors or alterations,.as a text (มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง);
debased (ทำให้ต่ำ เจือด้วยของต่ำ).
ในลักษณะที่เป็นกริยา มีความหมายว่า
To destroy or subvert the honesty or integrity of (ทำลายหรือลบล้างความสุจริตและความซื่อสัตย์).
To ruin morally (ทำให้ศีลธรรมเสื่อม); to
pervert (บิดเบือน นำไปในทางที่ผิด).
To taint (ทำให้ด่างพร้อย
ทำให้มีมลทิน); contaminate (ทำให้แปดเปื้อน
สกปรก โสโครก); infect (ทำให้สกปรก แปดเปื้อน).
To cause to become rotten (ทำให้เน่า); spoil (ทำให้เสีย).
To change the original form of (a text, language, or the like) ทำให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม)
Funk and
Wagnals New Standard Dictionary of the English Language ให้ความหมายไว้ว่า
Corruption หมายถึง
การใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่ โดยเฉพาะการกินสินบน
The
Shorter Oxford English Dictionary ให้คำอธิบายไว้ว่า Corruption
เป็นการกระทำให้ความซื่อตรงเสื่อม
จากการรับสินบนเพื่อช่วยเหลือกัน จากการใช้วิธีปฏิบัติมิชอบ
หรือจากการปฏิบัติมิชอบ"
Encyclopedia
Britannica ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า "การปฏิบัติมิชอบ"
(corrupt practices) มีความหมายรวมไปถึงการกินสินบนและใช้อิทธิพลเกินขอบเขต
โดยเฉพาะในการเลือกตั้ง
เบย์เลย์
(David H. Bayley) ได้กล่าวไว้ใน “The Effects of
Corruption in a Developing Nation” ในหนังสือ Political Corruption ของ Arnold
J. Heidenheimer ว่า "คอร์รัปชันเป็นเรื่องธรรมดาของประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย
ซึ่งมักจะกล่าวขวัญกันอยู่เป็นประจำในรูปของข่าวลือเสียเป็นส่วนมาก
แต่ก็มีเค้ามูลความจริงอยู่มากเหมือนกัน และพอจะตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ว่า
ประชาชนในประเทศด้อยพัฒนามักจะถือว่าการฉ้อราษฎร์บัหลวงเป็นองค์ประกอบชีวิตประจำวันของข้าราชการ
อันจะขาดเสียมิได้ และบรรดาข้าราชการทั้งหลายก็มีความรู้สึกเช่นนั้นด้วย"
(สุชาติ สวัสดิ์ศรี, 2518: หน้า
1)
นอกจากนั้น เบย์เลย์ (David H. Bayley) ได้ให้ความหมายว่า
"คอร์รัปชัน ในส่วนที่เกี่ยวกับการรับสินบนนั้นเป็นถ้อยคำที่มีความหมายกว้างขวาง
ครอบคลุมถึงการใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด
อันเกิดจากการเห็นประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง
ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเงินตราเสมอไป"
แม็คมุลเลน
(M. McMullen) กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ A Theory of
Corruption ว่า "ถ้าข้าราชการคนใดรับเงินหรือสิ่งของที่มีค่าเป็นเงิน เพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งตนมีหน้าที่อยู่แล้ว
หรือให้ทำในสิ่งที่ตนไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ
หรือเลือกกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยเหตุผลที่ไม่สมควร ถือว่าข้าราชการผู้นั้นฉ้อราษฎร์บังหลวง"
(สุชาติ สวัสดิ์ศรี, 2518: หน้า
1)
ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร กล่าวว่า
การฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นโรคระบาดที่น่าสะพรึงกลัวในบรรดาประเทศด้อยพัฒนา
(underdeveloped countries) หรือที่เรียกให้ไพเราะว่า ประเทศกำลังพัฒนา (developing countries) และไม่มียุคใดสมัยใดที่ประชาชนจะห่วงกังวลใจในเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงเท่าสมัยปัจจุบัน
(ธานินทร์ กรัยวิเชียร, 2510:หน้า 1) และมีความเห็นต่อไปอีกว่า
การฉ้อราษฎร์บังหลวง มีลักษณะแปลกไปจากความผิดหรืออาชญากรรมประเภทอื่นๆ
อยู่ประการหนึ่ง คือยากแก่การป้องกันและปราบปราม
เพราะผู้ที่รู้เห็นส่วนมากมักเป็นผู้ที่ร่วมกระทำความผิดด้วย จึงยากแก่การพิสูจน์
ยิ่งกว่านั้นยังเป็นที่ยอมรับกันว่า
แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าใครกินสินบาตรคาดสินบนก็พูดตรงๆ ไม่ได้
เพราะถึงจะเป็นเรื่องจริงก็อาจจะถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาทได้
ส่วนการที่จะพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องแสดงข้อคิดเห็นเพื่อสาธารณประโยชน์ก็มีอุปสรรคดังกล่าว
กรณีนี้จึงเป็นเรื่องพูดกันตามเสียงลือ ซึ่งผู้พูดจะต้องรับผิด ดังนั้นการกล่าวถึงเรื่องการฉ้อราษฎร์งบังหลวงจึงต้องพูดกันอย่างระมัดระวังและพูดได้เพียงกลางๆ
เท่านั้น (ธานินทร์ กรัยวิเชียร, 2510 หน้า 1)
ยังมีนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิอีกเป็นจำนวนมากที่ได้วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงในประเทศไทย
ซึ่งมักจะมีความเห็นใกล้เคียงกับที่ได้กล่าวมาแล้วเพียงแต่เน้นพัฒนาการ
รูปแบบวิธีการ รวมถึงเทคนิคที่ใช้ในการฉ้อราษฎร์บังหลวงแตกต่างกันไปตามยุคสมัยเท่านั้น
และส่วนใหญ่มีความเห็นในลักษณะที่ห่วงใยว่า
ปัญหานี้ไม่สามารถหาทางขจัดให้สิ้นไปจากชาติบ้านเมืองได้
และเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติโดยส่วนรวมเป็นอันมาก
คำนิยามข้างต้นสามารถสรุปองค์ประกอบสำคัญได้ 3 จำพวก
คือ (1) คำนิยามซึ่งเน้นที่ระบบราชการ (2) เน้นที่กลไกการตลาด และ (3) เน้นที่ประโยชน์สาธารณะ (Heidenheimer, 1970: pp.4-6) ดังนี้
ความหมายที่เน้นระบบราชการ
คำนิยามที่เน้นถึงระบบราชการ
(public office-centered definition)
เช่น คำนิยามของ
แม็คมุลเลน (McMullen) ที่กล่าวว่า "ถ้าเจ้าหน้าที่คนใดรับเงินในการปฏิบัติหน้าที่ ลักษณะการกระทำเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการคอร์รัปชัน" หรือคำนิยามของ นีย์ (J. S. Nye) ซึ่งได้ให้ความหมายไว้ว่า "คอร์รัปชันเป็นพฤติกรรมซึ่งเบี่ยงเบนออกจากหน้าที่ที่ปฏิบัติโดยปกติ เพราะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัว (เช่น ครอบครัว ความเป็นเพื่อน) และเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ซึ่งรวมถึงการให้สินบน การเกื้อหนุนญาติมิตร
การโกงเงินหรือทรัพย์สินที่จัดไว้เป็นพิเศษ" (Heidenheimer, 1970:
p.5)
ความหมายที่เน้นกลไกทางตลาด
คำนิยามที่เน้นถึงการต่อรองตามกลไกทางตลาด (market-centered
definition) เช่นคำนิยามของ เลฟท์ (Nathaniel Left) ซึ่งได้ให้ความหมายว่า "คอร์รัปชัน เป็นสถาบันนอกเหนือกฎหมาย
ซึ่งบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใช้ปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งอิทธิพลในระบบการบริหาร
การกระทำที่ถือว่าเป็นการคอร์รัปชันมีความสำคัญอยู่ที่ว่ากลุ่มเหล่านั้นสามารถเข้าร่วมในการตัดสินนโยบายการบริหารได้มากกว่ากลุ่มอื่น"
(Heidendeimer, 1970: p.3)
ความหมายที่เน้นเรื่องสาธารณประโยชน์
คำนิยามที่เน้นถึงการขัดสาธารณประโยชน์ (public-interest-centered
definition) เช่น คำนิยามของ ฟรีดริช (Carl Friedrich) ซึ่งได้ให้ความหมายว่า
การฉ้อราษฎร์บังหลวงปรากฏอยู่ในทุกแห่งหน เป็นการใช้อำนาจในการกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด
โดยได้รับสินจ้างรางวัลหรือเงินทองตอบแทนซึ่งการกระทำนั้นเป็นการทำลายประโยชน์ของสาธารณะ
หรือดังคำนิยามของ โรโกว์ (Arnold A. Rogow) และ ลาสส์เวลล์ (Harold
D. Lasswell) ว่า "คอร์รัปชันเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดความรับผิดชอบต่อกฎข้อบังคับที่พลเมืองพึงปฏิบัติ
และเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับระบบสาธารณประโยชน์โดยทั่วไป
และการฝ่าฝืนนั้นทำเพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบ" (Heidenheimer,
1970: p.6)
คำนิยามของวารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ ได้เน้นเรื่อง "สถาบันนอกเหนือกฎหมาย" และ "บุคคลหรือคณะบุคคลที่อยู่ในระบบราชการ"
ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมโดยตรงในการใช้สถาบันดังกล่าว
และเน้นที่ระบบราชการ
โดยที่ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์และอีกฝ่ายหนึ่งต้องเสียผลประโยชน์ "ตามผลของการต่อรองโดยความยินยอมของบุคคลที่มีส่วนร่วมโดยตรงนั้น" เป็นการให้ความหมายที่ครอบคลุมถึงคำนิยามประเภทที่เน้นถึงการต่อรองตามกลไกทางตลาด ส่วนการเน้นว่า "บุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนร่วมโดยตรงต้องเสียประโยชน์
จะโดยทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม" มีความหมายคลุมถึงคำนิยามประเภทที่เน้นการขัดสาธารณประโยชน์
(วาริทร์ วงศ์หาญเชาว์, 2516: หน้า 45-47)
อนึ่ง
คำนิยามของวารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ ยังกินความกว้างไปกว่าของไฮเดนไฮเมอร์
ตรงที่กล่าวว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวงเกิดขึ้นแม้แต่ในกิจกรรมของเอกชน
หรืออาจจะยังผลเสียหายให้เกิดขึ้นทางอ้อมในอนาคตได้ คำนิยามนี้สอดคล้องกับความคิดของ มีร์ดาล นิยามของ เรท (Ronald Wraith) และ ซิมกินส์ (Edgar
Simkins) ซึ่งระบุว่า"คอร์รัปชัน คือการแสวงหาอำนาจ
หรือการใช้อำนาจโดยวิธีการอันผิดกฎหมาย
หรือผิดทำนองคลองธรรม และไม่ถูกต้องด้วยจริยธรรม รวมตลอดถึงการเล่นพรรคเล่นพวกในวงการบริหารบุคคลด้วย"
(Wraith & Simkins, 1963: p.43) ในทำนองเดียวกัน ชัยอนันต์ สมุทวณิช
กล่าวว่า "คอร์รัปชันเป็นการทำให้เสื่อมเสียความซื่อตรง โดยรับสินบนหรือโดยช่วยเหลือกัน
การใช้วิธีปฏิบัติอันมิชอบ หรือมีการปฏิบัติอันมิชอบ อาทิ การกินสินบน การขายตำแหน่งหน้าที่
การอนุมัติทำสัญญาของทางราชการกับบริษัทห้างร้านหรือเอกชนที่ชอบพอกัน
และการที่ราชการยอมอนุญาตให้มีที่ดินหรือสิทธิพิเศษเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินรางวัล
เป็นต้น" (ชัยอนันต์ สมุทวณิช, 2519: หน้า 1)
จากนิยามตามทัศนะสากลทั่วไปของนักวิชาการหลายท่านที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น
ทำให้เห็นความหมายที่กว้างขวาง ไม่เพียงแต่จะกินความถึงการฉ้อราษฎร์บังหลวงในระบบข้าราชการเท่านั้น
แต่ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องกิจกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ
และสังคมในภาคเอกชนอีกด้วย
ความหมายในบริบทไทย
การฉ้อราษฎร์กับการบังหลวง
พจนานุกรม
ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" หมายถึง การที่พนักงาน
เจ้าหน้าที่เก็บเงินจากราษฎรแล้วไม่ส่งหลวง หรือเบียดบังเงินหลวง (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน,
2525 : หน้า
46) ซึ่งนับเป็นพจนานุกรมฉบับแรกที่ให้ความหมายเรื่องนี้ไว้ในเรื่อง "ฉ้อ"
คำว่าคอร์รัปชันนั้นไม่มีบัญญัติไว้ในพจนานุกรมฉบับนี้
ส่วนพจนานุกรมของบริษัทแพร่พิทยาได้ให้ความหมายของคำว่า "คอร์รัปชัน" ไว้ว่า หมายถึง
การฉ้อราษฎร์บังหลวง การเบียดบังเอา โดยอำนาจหน้าที่ราชการ (มานิต มานิตเจริญ, 2507: หน้า 306) และได้ให้ความหมายคำ "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" ว่าหมายถึง
การรีดนาทาเร้นประชาชน และการเบียดบังทรัพย์ของหลวงเป็นของตน
(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2525: หน้า
46) เพราะฉะนั้น
คอร์รัปชันตามความหมายในพจนานุกรมไทยก็มีความหมายกว้างขวางมากเช่นเดียวกัน คือหมายถึงการฉ้อราษฎร์บังหลวง
ตลอดจนการรีดไถโดยการที่ เจ้าพนักงานเรียกและรับสินบนจากราษฎร
ก็จัดเป็นการฉ้อราษฎร์ คือเป็นการเรียกเอาเงินหรืออามิสสินจ้างอย่างอื่น
จากราษฎรเพื่อปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามหน้าที่
อันเป็นการอำนวยประโยชน์แก่ผู้ให้สินบน สำหรับการบังหลวง
คือการที่เจ้าพนักงานกระทำการทุจริตต่อหน้าที่อันทำให้
เกิดความเสียหายแก่ผลประโยชน์ของแผ่นดิน ทั้งนี้
จะเป็นไปโดยสมคบกับราษฎรเบียดยังผลประโยชน์นั้นหรือไม่ก็ตาม (ม.ร.ว.เสนีย์
ปราโมช,2514: หน้า 170) เช่น
ราษฎรต้องเสียภาษีมาก เจ้าพนักงานก็สมคบกับราษฎร เพื่อให้เสียภาษีน้อย
โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นสินบนหรืออาจหมายถึงการที่เจ้าพนักงานเบียดบังยักยอกผลประโยชน์ของแผ่นดินโดยไม่มีราษฎรเข้ามาเกี่ยวข้องก็ได้
การรีดนาทาเร้น การรีดไถ การกินสินบน
การรีดนาทาเร้นประชาชน
หมายถึง การที่เจ้าพนักงานเรียกเอาเงินจากประชาชนโดยการขู่เข็ญ
อันเข้าลักษณะความผิดเป็นกรรโชกและทำทุจริตในหน้าที่ จึงเข้าลักษณะการคอร์รัปชัน
อย่างไรก็ดี ความแตกต่างระหว่างลักษณะการรีดไถ (extortion) และลักษณะการกินสินบน (bribery) นั้น
ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ยากมาก เช่น หากมีเจ้าหน้าที่เรียกร้องให้จ่ายเงินโดยผิดกฎหมาย
เมื่อขัดขืนก็หาเรื่องให้ถูกลงโทษ เช่นนี้มักเรียกกันว่าเป็นการรีดไถ
ในขณะที่การกินสินบน หมายถึงการให้เพื่อเป็นเครื่องชักชวนในทางบวก เช่น เมื่อบริษัทห้างร้านใดไม่เสียภาษีตามระเบียบและเจ้าพนักงานก็ได้เรียกร้องเงินจากเจ้าของบริษัท
เป็นการตอบแทนเพื่อไม่ให้มีการฟ้องร้อง สิ่งนี้เรียกว่าการรีดไถ
แต่ถ้าเจ้าของบริษัทได้ให้เงินแก่เจ้าหน้าที่ให้ช่วยเหลือในการออกใบสำคัญ
สิ่งนี้เรียกว่าเป็นการให้สินบน และการให้สินบนในความหมายเชิงหน้าที่ (functional
term) ก็ถือว่าเป็นการคอร์รัปชัน เพราะว่าเป็นการทำลายกฎของ สาธารณประโยชน์ (Heidenheimer, 1970:
p.57)
ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่กระทำการเรียกรับหรือยอมรับสินบน
หรือใช้ตำแหน่งทำการทุจริต
หรือเข้ามีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อผลประโยชน์สำหรับตนหรือผู้อื่น โดยการละเมิด หรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่ในทางราชการเพื่อก่อให้เกิดรายได้เป็นของตน
ก็ถือว่าเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำว่า "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" ถือเป็นการรีดนาทาเร้นประชาชน
เป็นการเรียกรับเอาเงินหรืออามิสอย่างอื่น และคำว่า "อามิส" ตามพจนานุกรมฉบับดังกล่าวข้างต้นก็หมายถึงเหยื่อ
เครื่องล่อใจ อาหาร ของโอชารส ของต้องใจ ความเจริญ ความสุขสบาย ความอยาก
หรือความกระหาย (มานิต มานิตเจริญ, 2507: หน้า 15-29) ดังนั้น
ถ้าพิจารณาตามความหมายนี้แล้ว การที่เจ้าพนักงานช่วยเหลือญาติพี่น้องพวกพ้องของตนให้ได้รับตำแหน่งหน้าที่ราชการ
แม้จะไม่ได้รับสินบน
แต่เจ้าพนักงานผู้นั้นก็ได้รับความสบายใจ ก็จัดว่าเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวง (กาญจนี สมเกียรติกุล, 2518: หน้า 12)
การทุจริตในหน้าที่ก็ถือว่าเป็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงราชการ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ระบุว่า
"ทุจริต"
หมายความว่า "ประพฤติชั่ว คดโกง" และตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 ระบุว่า คำว่า "โดยทุจริต" หมายความว่า "เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น"
ซึ่งในที่นี้หมายความว่า
ประโยชน์ที่แสวงหานั้นเป็นประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
กล่าวคือผู้แสวงหาประโยชน์ไม่มีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์นั้นตามกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สิน
หรือไม่ใช่ทรัพย์สินก็ได้ (หยุด แสงอุทัย,
2502: หน้า
245-246) ตามนัยนี้
การทุจริตในหน้าที่จึงถือว่าเป็นการคอร์รัปชันด้วย (กาญจนี สมเกียรติกุล, หน้า 13)
โดยสรุป การคอร์รัปชันในความหมายตามทัศนะของคนไทยนั้นมีลักษณะเช่นเดียวกับคำว่าคอร์รัปชัน
ซึ่งพออนุโลมได้ว่ามีความหมายเช่นเดียวกันกับทัศนะของสากล
อันรวมถึงการคอร์รัปชัน การทุจริตในหน้าที่ราชการ การรีดนาทาเร้นประชาชน
การกินสินบน ตลอดจนความอยุติธรรมอื่นๆ ที่ข้าราชการหรือบุคคลอื่นใดใช้เป็นเครื่องมือในการลิดรอนความเป็นธรรมและความถูกต้องตามกฎหมายของสังคม หรือหากจะกล่าวอย่างสั้นที่สุดคือ
การทุจริต และการประพฤติมิชอบ ของข้าราชการ ดังที่บัญญัติไว้
ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530 มาตรา 3 ความว่า
"การทุจริต"
หมายความว่า "การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นไม่ปฏิบัติการอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่
หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น"
"การประพฤติมิชอบในวงราชการ"
หมายความว่า "การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นไม่ปฏิบัติการอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่
หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง
มติของคณะรัฐมนตรี อย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งมุ่งหมายจะควบคุมดูแลการรับ การเก็บรักษา หรือการใช้เงินหรือทรัพย์สินของแผ่นดิน
ไม่ว่าการปฏิบัติหรือละเว้นไม่ปฏิบัตินั้น เป็นการทุจริตในวงราชการด้วยหรือไม่ก็ตามและให้หมายความรวมถึงการประมาทเลินเล่อในหน้าที่ดังกล่าวด้วย"
คอร์รัปชันในเชิงพฤติกรรม
เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า การคอร์รัปชัน
หมายถึง การโกงกิน หรือยักยอกทรัพย์สินของหลวง และการกระทำที่ขัดต่อหลักการของสาธารณประโยชน์ (public interest) แต่หากจะบ่งชี้ในรายละเอียดเชิงพฤติกรรมที่เรียกว่า
"โกง" นั้นบอกระบุให้ชัดเจนได้ค่อนข้างยาก
ดังนั้นการที่จะบอกว่าอะไรคือการคอร์รัปชันจึงเป็นเรื่องที่หนักไปทางด้านอัตวิสัย (subjective) ของบุคคล
รวมทั้งเป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบคุณค่า (value system) ในลักษณะเช่นนี้
การที่จะบอกว่าอะไรคือการคอร์รัปชันนั้นย่อมขึ้นอยู่กับจุดอ้างอิง (referencepoint) ที่เราใช้ (วารินทร์
วงศ์หาญเชาว์, 2516: หน้า 45) ด้วยเหตุนี้การที่จะเอามาตรฐานของสังคมหนึ่งไปวัดพฤติกรรม
ของอีกสังคมหนึ่งว่าเป็นการคอร์รัปชันหรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ
หรือต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง
เนื่องจากความเห็นของแต่ละบุคคลในแต่ละสังคมนั้นมีความแตกต่างกันไป สุดแต่ว่าบุคคลนั้นๆ จะมีความรู้
ประสบการณ์และอคติต่อศัพท์คำนี้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้แนวความคิดที่ใช้เกี่ยวกับการคอร์รัปชันนั้นจะใช้แบบสมบูรณนัย (absolute concept) ไม่ได้ เพราะการคอร์รัปชันไม่ว่าจะเกิดในสังคมใดก็ตามย่อมมีสภาพพลวัตร
(dynamism) ในตัวเอง (วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์, 2516: หน้า 45) นั่นคือ
ความหมายของการคอร์รัปชันย่อมเปลี่ยนไปได้เสมอสุดแต่แบบกำหนด
หรือปทัสถาน (norms) ของสังคมในระยะเวลานั้นๆ
และขึ้นอยู่กับทัศนคติของสังคมนั้นด้วย
การกระทำที่เรียกว่าเป็นการคอร์รัปชันในสังคมหนึ่งอาจจะถือว่าไม่เป็นความผิดในอีกสังคมหนึ่งก็ได้
ถ้าเราจะพิจารณาว่า
การกระทำอันใดที่จัดอยู่ในประเภทการคอร์รัปชันโดยใช้มาตรฐานของสังคมไทยปัจจุบันเป็นจุดอ้างอิง
อาจจะประมวลในเชิงแนวความคิดได้ดังนี้ (ธานินทร์ กรัยวิเชียร, 2510: หน้า 13)
ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการซึ่งเจ้าพนักงานเป็นผู้กระทำ
เช่น ยอมรับสินบน เรียกรับสินบน
หรือการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต หรือเข้ามีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนหรือผู้อื่น
ความผิดต่อวินัยราชการ เช่น
การใช้เวลาและทรัพย์สินของทางราชการเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
และใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางมิชอบ
จะเห็นได้ว่า การกระทำที่จัดอยู่ในประเภทการคอร์รัปชันสำหรับ สังคมไทยปัจจุบัน
มักจะเป็นเรื่องที่มีขอบข่ายเกี่ยวข้องอยู่เฉพาะด้านข้าราชการเป็นสำคัญ
โดยพิจารณาว่าข้าราชการเป็นตัวจักรกลสำคัญที่ทำให้เกิดพฤติกรรม การคอร์รัปชันในสังคม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น